วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
เผยคนไทย 1 ล้านคน ป่วยโรคอัลไซเมอร์
ศึกษาพบคนไทยถึง 1 ล้านคนเป็นอัลไซเมอร์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยคนแก่เป็นกลุ่มเสี่ยง แนะป้องกันอย่างใกล้ชิด... นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ กรรมการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าววันนี้ (26 พ.ค.) ว่า จากผลศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 7 ล้านคน และคาดว่า จะมีผู้สูง อายุเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 1 ล้านกว่าคน ที่สำคัญยังพบว่าแนวโน้มของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงต้องมีการดำเนินการป้องกันอย่างใกล้ชิด กรรมการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า อาการเตือนของโรคอัลไซเมอร์มีหลายระดับเริ่ม แรกอาจจะเป็นเพียงหลงลืมเล็กน้อย จนถึงระดับที่เป็นมาก โดยเริ่มจาก 1. ความผิดปกติด้านความทรงจำ จำอะไรไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำใหม่ และเริ่มมากขึ้นจนลืมความทรงจำในอดีต 2. ความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้ภาษา ผู้ป่วยจะหาคำพูดที่เหมาะสมกับคำที่จะพูดไม่ได้ เรียกชื่อสิ่งของผิดและไม่มีสมาธิทำให้ไม่สามารถสนทนาหรือสร้างประโยคได้จึงทำให้พูดประโยคสั้นลงจนในที่สุดอาจจะพูดซ้ำๆ หรือไม่พูดเลย 3. ความผิด ปกติเกี่ยวกับความรู้ทิศทางและเวลา ผู้ป่วยอาจหลงทาง ไม่รู้วัน เวลา สถานที่ บุคคล และกลางคืนไม่ยอมนอน หรือนอนไม่เป็นเวลานพ.ธงชัย กล่าวถึงอาการเตือนโรคอัลไซเมอร์ต่อว่า 4.ความผิดปกติของความเฉลียวฉลาด ความสามารถของผู้ป่วยที่เคยมีขาดหายไป 5.บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงและพบอาการทางจิตเวช โดยอาการที่พบบ่อยมากที่สุดคือ มีพฤติกรรมซ้ำๆ ซึมเศร้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หงุดหงิด หวาดระแวง และพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น การแสดงออกทางสังคมไม่เหมาะสม เห็นภาพหลอน หูแว่ว เป็นต้น และ 6. ความผิดปกติทางระบบการเคลื่อนไหวและระบบประสาทส่วนอื่นๆ ด้านคุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ รองประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ 1-5 มิ.ย.นี้ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ จะร่วมกับ กรุงเทพมหานครและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ได้จัดทำ โครงการ “คัดกรองความจำ” ขึ้น ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอาย และผู้ดูแลได้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงสัญญาณเตือนถึงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพื่อการเตรียมความพร้อมป้องกันตั้งแต่เริ่มแรก โดยกลุ่มคนที่ควรจะไปคัดกรองความจำในครั้งนี้คือผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำ มีปัจจัยเสี่ยงเนื่องจากมีญาติมีประวัติเคยรักษาโรคอัลไซเมอร์ส่วน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมในด้านการให้บริการกับผู้สูงอายุที่สนใจเข้าร่วมคัดกรองในครั้งนี้ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ หัวหน้าคลินิกความจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ รศ.พวงสร้อย วรกุล นักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาให้การอบรมเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น