นักวิจัยญี่ปุ่นเผยผลวิจัยสารสกัดชาเขียวมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งแนะดื่มชาเขียววันละ 10 แก้ว ควบคู่กับผักผลไม้ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ ด้านนักวิจัยไทยยันกินมังสวิรัติป้องกันมะเร็งผิวหนัง ชี้โอกาสเป็นน้อยกว่าคนกินเนื้อ
ศ.ดร.ฮิโรตะฟูจิกิ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผลการวิจัยสารสกัดชาเขียวกับโอกาสในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง ในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ครั้งที่ 2 จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า ชาเขียวเป็นพืชที่นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาการออกฤทธิ์ยับยั้งโรคมะเร็งอย่างแพร่หลาย ผลการวิจัยพบความเป็นไปได้ ในการนำชาเขียวมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคมะเร็งในอนาคตอันใกล้
งานวิจัยยืนยันว่าในชาเขียวมีสารแคททีชิน(catechin) ซึ่งทำลายเซลล์มะเร็งได้ ผลจากการวิจัยยังพิสูจน์ว่าการดื่มชาเขียวอย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นสารที่สกัดได้จากธรรมชาติ
ที่ผ่านมานักวิจัยได้ศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดชาเขียวในอาสาสมัครที่เป็นมะเร็งแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ราย เบื้องต้นพบว่าการดื่มชาเขียวสามารถชะลอการป่วยด้วยโรคมะเร็งออกไป แต่หากป่วยแล้วก็ช่วยป้องกันการลุกลามของโรคได้ แต่ต้องดื่มถึงวันละ 10 ถ้วย อย่างไรก็ตาม ผลของการบริโภคชาเขียวจะดียิ่งขึ้นหากรับประทานควบคู่กับผักผลไม้เป็นประจำ ทั้งนี้เนื่องจากผักผลไม้มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้
ศ.เกียรติคุณดร.ไมตรี สุทธจิตต์ ภาควิชาชีวเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า ผักและผลไม้สามารถช่วยยับยั้งการเกิดของเซลล์มะเร็งเยื่อบุผิว เช่น มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งผิวหนัง รวมถึงมะเร็งปอดได้จริง จากการวิจัยที่มีการศึกษาในทั่วโลก โดยมะเร็งเยื่อบุผิวเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเกิดมากที่สุดหรือ 80% ของมะเร็งที่มีทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ จะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่า เนื่องจากในผักผลไม้มีวิตามิน ไฟเบอร์ และสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ขณะที่เนื้อสัตว์อุดมไปด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล สาเหตุสำคัญของโรค เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น
การดื่มชาเขียวควบคู่กับผักผลไม้มีส่วนช่วยยับยั้งกลไกของยีนก่อมะเร็ง เหมาะสำหรับคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง และป้องกันการเป็นมะเร็งซ้ำ ดังนั้น การรับประทานมังสวิรัติหรืออาหารเจ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น