วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คุณลักษณะ 10 ประการ ของผู้มีระดับคุณภาพทางอารมณ์สูง



1. รับรู้อารมณ์ของตนเอง มากกว่าที่จะกล่าวโทษสถานการณ์ หรือผู้อื่น
2. สามารถแยกแยะระหว่าง ความคิด กับ ความรู้สึก ได้
3. มีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเองไม่โทษโน่นโทษนี้
4. รู้จักใช้ ความรู้สึก เพื่อช่วยในการตัดสินใจ
5. มีความเคารพ ให้เกียรติในความรู้สึกของคนอื่น
6. เมื่อถูกกระตุ้นให้โกรธ จะสามารถ ควบคุมจิตใจไม่ให้โกรธได้ และสามารถแปลงพลังความโกรธให้เป็นพลังในทางสร้างสรรค์ได้
7. เข้าใจเห็นอกเห็นใจและยอมรับในความรู้สึกของผู้อื่น
8. รู้จักฝึกหาคุณค่าในทางบวก จากอารมณ์ในทางลบ
9. ไม่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ตัดสิน ออกคำสั่ง ทำการควบคุม หรือแนะนำสั่งสอนผู้อื่น เป็นกิจวัตร
10. หลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์กับคนที่ไม่ยอมรับ หรือ ไม่เคารพความรู้สึกของผู้อื่น

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เด็กไม่เอาถ่าน คำนี้มีที่มาจากอะไร?

เด็กที่วันๆ เอาแต่เล่นเกมส์ออนไลน์ ไม่อ่านหนังสือเรียน การบ้านก็ไม่ทำ งานบ้านก็ไม่เคยคิดจะหยิบจับช่วยเหลือพ่อแม่ ทานอาหารแล้วไม่รู้จักล้างจานชาม เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างพฤติกรรมของ "เด็กไม่เอาถ่าน" ทำไมจึงเรียก "เด็กไม่เอาถ่าน" คาดกันว่าคำนี้มีที่มาจากคำเดิม คือ "เหล็กไม่เอาถ่าน" เพราะในสมัยก่อนนั้น การหลอมเหล็กหรือตีอาวุธจากเหล็กให้แข็งแกร่งนั้น จำเป็นต้องใช้ถ่านในการก่อเปลวไฟจนลุกโชน เพื่อให้ความร้อนแก่เหล็ก แล้วถ่านหรือคาร์บอนจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเนื้อเหล็กหลังจากการถลุง ถ้าเหล็กไม่มีถ่านผสมอยู่เลย เหล็กนั้นจะมีคุณภาพต่ำ ไม่แข็งและเหนียวพอที่จะเรียกว่า เหล็กกล้า แต่หากมีมากเกินไปจะทำให้เหล็กเปราะ เหล็กที่ดีควรมีคาร์บอนเข้าไปผสมอยู่ประมาณ 0.1 - 1.8% ช่างตีอาวุธจากเหล็กในสมัยโบราณ จำเป็นต้องคิดค้นหากลวิธี เพื่อขจัดปัญหาดาบหัก เพราะแสดงถึงกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ดีทำให้เหล็กไม่เอาถ่าน จนกลายเป็นคำพูดติดปาก เปรียบเทียบนิสัยคนกับอาวุธว่า "เหล็กไม่เอาถ่าน"

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หลากหลายวิธี ช่วยให้อารมณ์ดีทันตาเห็น

หันไปทางไหนในยามนี้ เจอแต่คนหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยพิษเศรษฐกิจตกสะเก็ด อย่ากระนั้นเลย มาลองหาวิธีชุบชูใจให้อารมณ์ดีทันตาเห็นกันดีกว่า
แต่ละวิธีที่จะนำมาบอกต่อกันนี้สรุปมาจากข้อเขียนของคริสตี โล ใน นสพ.เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ ของออสเตรเลีย ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีง่าย ๆ แทบไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายตังค์เพิ่ม หรือจ่ายน้อยมาก
วิธีแรกสุดคือต้องรู้จัก หายใจให้มีความสุข เพราะครูสอนโยคะบอกว่า การหายใจเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิต ดังนั้น มันจึงสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของเราได้ด้วย โดยให้นั่งตัวตรงปล่อยตัวตามสบายค่อยๆ หายใจเข้าออกช้าๆสัก 3 นาที หรือถ้ารู้สึกหนักมากต่อเวลาออกไปก็ได้
ลองเปลี่ยนบรรยากาศในห้อง ก็เป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่ช่วยคลายเครียดได้ไม่น้อย นักจิตวิทยาแนะนำว่า การนำแจกันดอกไม้มาตั้งไว้ในห้องก็เป็นไอเดียที่ไม่เลว ในการนำสภาพแวดล้อมภายนอกเข้ามาในห้อง ที่สำคัญต้องเป็นดอกไม้ที่มีสีสันสดใสสักหน่อย อย่างดอกทานตะวันหรือกล้วยไม้กำลังบานนี่ใช่เลย นอกจากนี้ยังอาจเปลี่ยนสีห้องเพราะว่าสีมีอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อคนเรา
ตั้งความฝันไว้ แล้วไปให้ถึง สังเกตพวกวัยรุ่นที่ชอบติดรูปดาราคนโปรดในห้อง ก็เพราะยึดดาราเป็นต้นแบบที่จะไปให้ถึง สำหรับคนทำงานแล้วอาจติดรูปภาพสถานที่ที่อยากไปเที่ยวแปะไว้ข้างฝา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นว่าสักวันเถอะ จะต้องไปที่นั่นให้ได้
เรื่องของกลิ่นก็มีส่วนช่วย อาจจะ จุดเทียนหอม หรือ น้ำมันหอมระเหย ทำให้ห้องอบอวลไปด้วยกลิ่นที่น่าอภิรมย์ พลอยให้จิตใจไม่หงุดหงิดง่าย ระหว่างนั้นอาจจะ จิบชา รสที่ชอบไปด้วย แต่เรื่องชามีผู้แนะนำว่าให้เลือกชาคาโมไมล์ และเอิร์ลเกรย์ จะช่วยคลายอารมณ์ได้
สุดท้ายอาจฟังดูแปลกพิสดาร เขาแนะนำให้ ล้างมือ ผู้แนะนำบอกว่า ระหว่างล้างมือด้วยน้ำกับสบู่จะทำให้เราจดจ่อกับสีและกลิ่นของฟองสบู่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราค่อยๆเปลี่ยนอารมณ์ให้เย็นลงนั่นเอง.

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เกาลัดคั่วในเม็ดทราย


เกาลัดคั่วที่เห็นมากแถวเยาวราช มักจะมีเม็ดสีดำเล็กๆ คั่วรวมอยู่ด้วย หลายคนคิดว่าเป็นเมล็ดกาแฟ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เจ้าเม็ดสีดำเล็กนั้นคือเม็ดทรายขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร เป็นทรายที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือที่เห็นตามตู้ปลาสีออกน้ำตาลพ่อค้าจะนำเอาทรายแห้งใส่ลงไปในกระบะใบใหญ่ พอทรายร้อนระอุได้ที่จนเป็นสีดำก็จะนำเอาลูกเกาลัดใส่ลงไป บางร้านเติมน้ำตาลทรายคั่วรวมกันให้ได้รสหวานบางเจ้าเพิ่มกลิ่นหอมด้วยการใส่เมล็ดกาแฟคั่วรวมไป เหตุผลที่ต้องใช้เม็ดทราย ก็เพราะเม็ดทรายช่วยเก็บความร้อนไว้ได้ ซึ่งดีนักสำหรับการทำให้เกาลัดสุกถึงเนื้อผลด้านใน เพราะหากสังเกตกันดีๆ เนื้อผลของเกาลัดนั้นจะไม่ติดกับเปลือก ดังนั้นการใช้ทรายที่ร้อนระอุตลอดเวลาจะช่วยให้เนื้อเกาลัดค่อยๆ สุก แต่ต้องหมั่นคนเพื่อไม่ให้เกาลัดไหม้ ซึ่งจะคั่วกันนานราว 30-40 นาที เม็ดทรายนั้นใช้ได้นานกว่า 1 เดือน เรียกว่าคั่วเกาลัดได้หลายกระทะจนทรายที่เป็นเม็ดเริ่มป่นเป็นผงนั่นแหล่ะจึงจะเปลี่ยนไปใช้เม็ดทรายชุดใหม่

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผิวสวยด้วยคอลลาเจน

คอลลาเจน คือ โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนังของร่างกายซึ่งสานกันเป็นเครือข่ายชั้นผิวหนัง และเป็นโปรตีนสำคัญต่อความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด และช่วยสร้างความตึงกระชับให้ผิว โดยจะทำงานร่วมกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อีลาสติน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสลายตัวของคอลลาเจน คือ อนุมูลอิสระที่เกิดจากมลพิษต่างๆเช่น บุหรี่ แสงแดด สารปนเปื้อนในอาหาร และจากการเผาผลาญอาหารในร่างกายไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปการผลิตคอลลาเจนในร่างกายจะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อขาดคอลลาเจนผิวพรรณที่เคยเต่งตึงจะเริ่มหย่อนคล้อย มีริ้วรอยเพิ่มมากขึ้น ความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นของผิวลดลง
การเติมคอลลาเจนให้กับผิวเพื่อหวังผลในการชะลอริ้วรอย ในวงการแพทย์สามารถทำได้โดยการฉีดคอลลาเจนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในเครื่องสำอางก็มีการนำคอลลาเจนไปผสม สังเกตได้จากฉลากที่ระบุส่วนผสมของ ไฮโดรไลซ์คอลลาเจนไฮโดรไลซ์ อีลาสติน โปรคอลลาเจน เอเอชเอ
นอกจากนั้นการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งจะช่วยชะลอการสลายตัวของคอลลาเจนและช่วยลดการเกิดมะเร็งในร่างกายอีกด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ก็ได้แก่ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อคอลลาเจนและอีลาสติ

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

น้ำมะเน็ด ในขวดแบบโบราณ


น้ำมะเน็ดเป็นน้ำอัดลมชนิดหนึ่งที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาจากน้ำ Lemonade ของฝรั่งคำว่า Lemonade แปลว่าน้ำมะนาวก็จริง แต่น้ำมะเน็ดไม่ใช่น้ำมะนาวเปรี้ยวแท้ๆแต่เป็นน้ำมะนาวปลอมๆ ที่มีการแต่งรสแต่งสีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำอัดลมในยุคปัจจุบันคงใกล้เคียงกับน้ำสไปรท์
ฝรั่งเริ่มผลิตน้ำมะเน็ดขายตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ต้องหลังจากจาคอบ ชเวพ (Jacob Schwepp) คิดทำน้ำโซดาได้เมื่อ พ.ศ. 2335หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน
สำหรับในเมืองไทยนั้นพบโฆษณาขายน้ำมะเน็ดในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1866 โดยน้ำมะเน็ดในสมัยก่อนจะบรรจุอยู่ในชวดรีๆ แบบลูกรักบี้ และปิดปากขวดด้วยจุกไม้ก๊อก เขาออกแบบขวดให้วางนอนขนานกับพื้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้จุกก๊อกแห้งและหด อ้างอิงตามรูปในหนังสือThe Art of the Label ของ Robert Opie ยอดนักสะสมบรรจุภัณฑ์ หน้า 10กับหน้า 65
จนเมื่อ ค.ศ. 1875 หรือ พ.ศ. 2418 ตรงกับต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการประดิษฐ์ขวดแบบคอคอด และมีจุกลูกแก้วอยู่ที่ปากขวดโดย Hirem Codd จึงมีการบรรจุน้ำมะเน็ด รวมทั้งน้ำโซดา และน้ำอัดลมอื่นๆ ลงในขวดชนิดนี้ ในการบรรจุต้องจับหัวขวดให้คว่ำลง เมื่อน้ำอัดลมเข้าไปในขวดแล้ว แรงแก๊สจะดันลูกแก้วให้ลอยขึ้นไปแนบและแน่นติดกับวงแหวนยางที่ปากขวด เมื่อจะดื่มต้องเอาไม้กระแทกลูกแก้วลงไปแรงๆ ส่วนวิธีรินไม่ให้ลูกแก้วกลิ้งมาปิดปากขวด คือ ต้องหมุนขวดให้ลูกแก้วไปตกอยู่ระหว่างคอหยักที่เขาทำไว้จึงจะรินน้ำได้สะดวก
น้ำมะเน็ดเคยมีขายตามโรงหนังและตามร้านต่างๆ อยู่นานพอสมควรแต่ในที่สุดก็หายไปจากเมืองไทยเมื่อราว 50-60 ปีก่อน